วันพฤหัสบดี

7 สุดยอด Vitamin อาหารเสริม เพื่อผิวสวยใส

7 สุดยอด Vitamin อาหารเสริม เพื่อผิวสวยใส (ตอนแรก)

หากในแต่ละวันเราไม่สามารถกินผักผลไม้ ได้ครบ 5-8 จานย่อมๆ (ต้อง 7 สีด้วยนะ) แล้วจะทำยังงัย เราถึงจะได้รับวิตามินครบ เพื่อสุขภาพที่ดีและผิวสวยใส วันนี้มีทางลัดมาแนะนำค่ะ


วิตามินซี (Vitamin C)

วิตามินซี หรือ แอสคอบิกแอซิด (Ascorbic Acid) เป็นวิตามินที่ได้รับการยกย่องจาก Dr.Nicholas Perricone แพทย์ผิวหนังและ Anti-Aging ชื่อดังจากนิวยอร์ก ว่าเป็นวิตามินระดับซูเปอร์สตาร์ เป็นวิตามินที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระตัวแรกๆ ที่ถูกค้นพบและศึกษากันอย่างกว้างขวาง

จากการทดลอง พบว่า วิตามินซี(Vitamin C) น่าจะยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ และมีส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยและการเสื่อมสภาพของผิวได้




นอกจากในเรื่องของผิวแล้ว วิตามินซีอาจช่วยในเรื่องของการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดอาการโรคภูมิแพ้ ป้องกันโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระเช่น โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง

การรับประทานวิตามินซี(Vitamin C) นั้น ในทาง Anti-Aging แนะนำให้ทานได้ถึง 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (รวมกับปริมาณที่ได้รับจากการทานอาหารด้วย) โดยแบ่งรับประทานครั้งละไม่เกิน 500 มก. เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ โอกาสที่วิตามินซีจะมากเกินไปและสะสมอยู่ในร่างกายนั้นมีน้อย เนื่องจากวิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ จึงถูกขับออกทางปัสสาวะได้โดยง่าย


วิตามินอี (Vitamin E)

เมื่อพูดถึง วิตามินซีแล้ว ก็ต้องตามมาด้วยวิตามินอี เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของวิตามินซี วิตามินอีเป็นอีกหนึ่งในกองทัพต้านอนุมูลอิสระที่ทรงอานุภาพ แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญจากวิตามินซีคือ วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แต่ไม่ละลายในน้ำ ดังนั้นในบางบริเวณของร่างกาย เช่น เยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งเป็นไขมัน จะต้องอาศัยวิตามินที่ละลายในไขมันได้ เข้าไปจัดการกับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น เรียกง่ายๆ ว่า วิตามินซีกับวิตามินอีนั้น มีการแบ่งโซนการดูแลจัดการอนุมูลอิสระกันนั่นเอง

วิตามินอี (Vitamin E) มีความสามารถในการช่วยปกป้องคุ้มครองคอลลาเจน ให้รอดพ้นจากการทำลายของอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับวิตามินซี และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนังเซลล์ ไม่ให้ถูกทำลายโดยง่าย

มีหลายการศึกษาที่แนะนำว่า วิตามินอีอาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองตีบ อัลไซเมอร์ และมะเร็งต่างๆ

การเลือกรับประทานวิตามินอีแบบอัดเม็ด เพื่อเสริมอาหารนั้น ควรเลือกแบบที่เลียนแบบวิตามินอีในธรรมชาติได้ดีที่สุด คือ ประกอบไปด้วย แอลฟาโทโคฟีรอล แกมมาโทโคฟีรอล และโทโคไทรอีนอล หากรับประทานเพียงตัวใดตัวหนึ่ง อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการทานเลย

ปริมาณวิตามินอี (Vitamin E) ที่แนะนำอยู่ที่ 200-400 IU



โคเอนไซม์คิวเท็น

โคเอนไซม์คิวเท็น หรือ Q10 คือสารที่ช่วยเอนไซม์ทำงาน ช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายเราเป็นไปโดยปกติ โคเอนไซม์คิวเท็นพบมากในอวัยวะที่ใช้พลังงานมาก เช่น เซลล์หัวใจ เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตสเปริ์ม นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า Q10 น่าจะมีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตพลังงานของเซลล์ต่างๆ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกตัวหนึ่งที่มีความสำคัญ

จริงๆ แล้ว ร่างกายของคนเราทุกคนมี Q10 อยู่ในเซลล์ต่างๆ ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ด้วยผลแห่งสังขาร เมื่อเราอายุมากขึ้น พบว่าระดับ Q10 ในเซลล์ต่างๆ ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ และการรับประทานยาบางกลุ่ม เช่น ยาลดไขมันในกลุ่มสเตติน ก็จะทำให้ระดับของ Q10 ในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว

มีการศึกษาในกลุ่มคนไข้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อได้ทาน Q10 เสริม พบว่าการทำงานของหัวใจดีขึ้น

ในส่วนของผิวหนังพบว่า เมื่อถูกแสงยูวีเอ UV A ทำลาย เกิดเป็นอนุมูลอิสระขึ้น Q10 เปรียบเสมือนทหารเดนตายด่านแรก ที่เข้าช่วยปกป้องผิวให้รอดพ้นจากการทำลายของอนุมูลอิสระ

ปริมาณ โคเอนไซม์คิวเท็น Q10 ที่แนะนำ อยู่ที่ 30-100 มิลลิกรัมต่อวัน
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านก่อนที่จะไปซื้อหามารับประทานเอง


แอลฟาไลโพอิกแอซิด

แอลฟาไลโพอิกแอซิด หรือ ALA นั้น เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติพิเศษในการรีไซเคิล วิตามินซี อี โคเอนไซม์คิวเท็น และกลูทาไทโอน ที่ถูกใช้ไปแล้ว ให้ร่างกายนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก หรืออีกนัยหนึ่งคือ เพิ่มระดับของวิตามินตัวอื่นๆ ในร่างกายเรานั่นเอง

ALA ยังมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถทำงานต้านอนุมูลอิสระได้ ทั้งในบริเวณที่เป็นไขมันเช่น เยื่อหุ้มเซลล์ หรือบริเวณที่เป็นน้ำเช่น ในเซลล์ เปรียบได้กับทหารในรถสะเทินน้ำสะเทินบก ที่บุกตะลุยสู้ข้าศึกได้ทุกที่

ในยุโรป นอกจาก ALA จะเป็นที่นิยมนำมารับประทาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพในคนทั่วไปแล้ว ยังเป็นที่นิยมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ALA อาจช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในคนไข้โรคเบาหวาน เช่น ภาวะปลายประสาทชาได้

ปริมาณ แอลฟาไลโพอิกแอซิด ALA ที่แนะนำสำหรับการทานเพื่อส่งเสริมสุขภาพทั่วไปอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัม

และสำหรับการทานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน 100-200 มิลลิกรัม

ติดตามตอนต่อไป
7 สุดยอด Vitamin อาหารเสริม เพื่อผิวสวยใส (ตอนจบ)


ขอขอบคุณและรวบรวมข้อมูลจาก
- หนังสือ Anti-Aging สูตรลับชะลอวัย โดย แพทย์หญิงธิดากานต์ รัตนบรรณางกูร


บทความที่เกี่ยวข้อง :
อนุมูลอิสระ (Free radicals) ฆาตกรเงียบ


กลับหน้าแรก Anti-Aging D.I.Y.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีรับคำติชม ทุกความคิดเห็นค่ะ (โปรดใช้คำสุภาพนะคะ :)